Rules and Regulations :: กฎระเบียบ และข้อบังคับ


TSA Rules

หมวด 1 ข้อความทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมเจ้าของเรือไทย" เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า "THAI SHIPOWNERS ' ASSOCIATION"

ข้อ 2. สำนักงานใหญ่ของสมาคมเจ้าของเรือไทย ตั้งอยู่ ณ อาคารปัญจธานีทาวเวอร์ ชั้น 13 เลขที่ 127 ถนนรัชดาภิเษก ช่องนนทรี กรุงเทพฯ 10120

ข้อ 3. วัตถุประสงค์ของสมาคมเจ้าของเรือไทย มีดังต่อไปนี้

3.1 เพื่อพัฒนา ส่งเสริมและขจัดปัญหาการพาณิชยนาวีและโลจิสติกส์ของประเทศรวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ในด้านการขนส่งทางน้ำ และการเดินเรือของเรือไทย

3.2 ให้คำปรึกษาสมาชิกเกี่ยวกับปัญหาการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์ตลอดจน ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก

3.3 ประสานงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์ระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง ระหว่างสมาชิกกับส่วนราชการ สถาบันและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์

3.4 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาชิกในการเสนอข้อคิดเห็น และนโยบายเกี่ยวกับการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์ ต่อส่วนราชการ สถาบันและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศที่เกี่ยวกับการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์ และกองเรือพาณิชย์ไทย

3.5 เพื่อระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิทาทระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง โดยให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่เห็น สมควรขึ้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในข้อขัดแย้งนั้นๆ ด้วยความเป็นธรรม โดยยึดถือนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์ของประเทศ

3.6 ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อความสามัคคีและประโยชน์ทางวิชาการของสมาชิก

3.7 เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์เพื่อประโยชน์และส่งเสริมการดำเนินการของสมาคมและสมาชิก

3.8 สมาคมเจ้าของเรือไทยไม่มีวัตถุประสงค์และไม่ดำเนินการทางการเมือง

หมวด 2  สมาชิก และสมาชิกภาพ

ข้อ 4. สมาชิกของสมาคมเจ้าของเรือไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 4.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ที่ได้ทำประโยชน์หรืออาจทำประโยชน์ให้แก่สมาคมเจ้าของเรือไทย และรับเป็นสมาชิกตามคำเชิญของคณะกรรมการแล้ว

4.2 สมาชิกสามัญ แบ่งออกเป็น 2ประเภท คือ

  • สมาชิกสามัญประเภทหนึ่ง ได้แก่ สมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเจ้าของเรือไทย สมาชิกที่มีเรือขนส่งสินค้าหรือผู้โดย สารหรือเรือประเภทอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม
  • สมาชิกสามัญประเภทสอง ได้แก่ สมาชิกที่ประกอบธุรกิจในการเป็นตัวแทนเรือ ท่าเรือและอู่เรือหรืออาจเป็น ผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพาณิชยนาวีที่คณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้เป็น "สมาชิกสามัญประเภทสอง" ได้ เว้นแต่ข้อความในข้อบังคับจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น คำว่า "สมาชิกสามัญ" ให้หมายความรวมถึงสมาชิกสามัญประเภทหนึ่งและสมาชิกสามัญประเภทสอง

4.3 สมาชิกสมทบ ได้แก่ สมาชิกที่ประกอบกิจการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกิจการพาณิชยนาวีนอกเหนือจากที่มีลักษณะ หรือคุณสมบัติของสมาชิกสามัญตามข้อ 4.2 ข้างต้น ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรให้เป็น "สมาชิกสมทบ"ได้

4.4 ผู้ใดประสงค์จะเป็นสมาชิกสมาคมเจ้าของเรือไทย ให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมกำหนดไว้โดยมีสมาชิก เป็นผู้รับรอง1 คน แล้วยื่นต่อสมาคม เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไปถ้าไม่มีเสียงคัดค้านหรือมีเสียงคัดค้านไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดหรือคณะกรรมการไม่ได้กำหนดเงื่อนไขในการรับเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครจึงเข้าเป็นสมาชิกได้

4.5 การพิจารณากำหนดประเภทสมาชิก การพิจารณารับสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้และการถอดถอนสมาชิกภาพเป็น ดุลพินิจของคณะกรรมการสมาคมเจ้าของเรือไทย การใช้สิทธิของคณะกรรมการในเรื่องดังกล่าวย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้สมัครหรือสมาชิกในการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากสมาคมเจ้าของเรือไทยและคณะกรรมการ

ข้อ 5. สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลจะต้องแจ้งชื่อผู้แทน 1 คน ให้เป็นผู้ใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกแทน ผู้แทนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและได้รับมอบอำนาจให้กระทำแทนสมาชิกได้ตามกฎหมาย

หมวด 3 ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียม

ข้อ 6. สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ จะต้องชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกภายใน 1 เดือน เมื่อได้รับแจ้งการพิจารณารับ เข้าเป็นสมาชิกจึงจะมีฐานะเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์และต้องชำระค่าบำรุงตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในระเบียบ คือ

6.1 สมาชิกสามัญทุกประเภท จะต้องชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกรายละ 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) และจะต้องชำระค่าบำรุงเป็นรายปีตามอัตราดังต่อไปนี้

สมาชิกสามัญประเภทหนึ่ง

  • ผู้ก่อตั้งสมาคมเจ้าของเรือไทย อัตราค่าสมาชิกปีละ 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
  • มีเรือระวางรวมมากกว่า 100,000 ตันกรอสส์ อัตราค่าสมาชิก ปี ละ 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน)
  • มีเรือระวางรวมตั้งแต่ 50,000 ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน 100,000 ตันกรอสส์ อัตราค่าสมาชิกปีละ 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
  • มีเรือระวางรวมตั้งแต่ 10,000 ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน 50,000 ตันกรอสส์ อัตราค่าสมาชิกปีละ 45,000 บาท (สี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน)
  • มีเรือระวางรวมตั้งแต่ 5,000 ตันกรอสส์ แต่ไม่เกิน 10,000 ตันกรอสส์ อัตราค่าสมาชิกปีละ 35,000 บาท (สามหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
  • มีเรือระวางรวมไม่เกิน 5,000 ตันกรอสส์ อัตราค่าสมาชิกปีละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

สมาชิกสามัญประเภทสอง

  • อัตราค่าสมาชิกปีละ 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)

6.2 สมาชิกสมทบ จะต้องชำระค่าจดทะเบียนสมาชิกรายละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) และจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกสมทบเป็นรายปี อัตราปีละ 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน)

6.3 ค่าจดทะเบียนของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบให้ชำระเพียงครั้งเดียว เมื่อสมาคมเจ้าของเรือไทย แจ้งไปยังผู้สมัครและให้นำมาชำระภายใน 30 วัน ส่วนค่าบำรุง สมาคมจะเรียกเก็บในเดือนมกราคมของทุกปี สมาชิกสามัญอาจแบ่งชำระเป็นราย 3 เดือน สำหรับสมาชิกสมทบต้องชำระครั้งเดียวภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งหนังสือเรียกเก็บเงิน เว้นแต่ในกรณีที่สมาชิกสามัญได้เข้าเป็นสมาชิก ในระหว่างปีให้ชำระค่าบำรุงของปีนั้นตามอัตราส่วนที่สมาคมแจ้ง

ข้อ 7. ในกรณีที่สมาคมเจ้าของเรือไทยจัดทำบริการ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลใดๆ คณะกรรมการอาจสั่ง หรือวางระเบียบ เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายสำหรับการนั้นได้

ข้อ 8. ในกรณีจำเป็นที่ค่าจดทะเบียนสมาชิกและค่าบำรุง ซึ่งเก็บได้ตามข้อ6 ไม่พอกับค่าใช้จ่ายของสมาคมเจ้าของเรือไทย คณะกรรมการอาจขอให้สมาชิกเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกินนั้น ในอัตราส่วนที่คณะกรรมการจะกำหนดอย่างเป็นธรรม

หมวด 4 การขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ 9. สมาชิกอาจลาออกจากการเป็นสมาชิกได้โดยทำหนังสือยื่นต่อสมาคมเจ้าของเรือไทย แต่แม้ว่าจะได้ยื่นหนังสือขอ ลาออกจากการเป็นสมาชิกแล้ว สมาชิกผู้นั้นยังคงผูกพันที่จะต้องชำระเงินค่าบำรุงและหนี้สินใดๆที่ค้างชำระอยู่ให้แก่สมาคม จนเสร็จสิ้นครบถ้วน

ข้อ 10. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

10.1 ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล

10.2 ลาออก

10.3 เลิกประกอบกิจการที่ได้แจ้งไว้ในเวลาที่จดทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก

10.4 คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อ 11

ข้อ 11. คณะกรรมการอาจมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มาประชุม ให้สมาชิกพ้นจาก สมาชิกภาพได้ หากสมาชิกผู้นั้น

11.1 ไม่ชำระค่าบำรุง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกิน 1 ปี

11.2 กระทำการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของสมาคมเจ้าของเรือไทย

11.3 ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย

11.4 กระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายต่อสมาคมเจ้าของเรือไทยหรือสมาชิกอื่นๆหรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ในคดีอาญาให้รับโทษจำคุก

ข้อ 12. สมาชิกผู้ใดคณะกรรมการมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อ 11 ถ้าสมาชิกผู้นั้นเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเจ้าของเรือไทย เพื่อให้ทำการพิจารณาและวินิจฉัย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุมจึงจะมีผลกลับมติของคณะกรรมการ

ข้อ 13. เมื่อปรากฎว่า สมาชิกผู้ใดตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคลให้สมาคมเจ้าของเรือไทยจำหน่ายชื่อสมาชิกผู้นั้นออกจาก ทะเบียน

หมวด 5 สิทธิ และหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 14. สมาชิกมีสิทธิ

14.1 ได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมเจ้าของเรือไทย ในกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

14.2 ใช้สถานที่และได้รับผลประโยชน์จากสมาคมเจ้าของเรือไทยเท่าเทียมกัน

14.3 เสนอความคิดเห็นหรือคำแนะนำต่อคณะกรรมการอันเกี่ยวกับกิจการ และความเจริญก้าวหน้าของสมาคมเจ้า ของเรือไทย

14.4 ตรวจสอบกิจการ และทรัพย์สินของสมาคมเจ้าของเรือไทยได้ โดยทำคำขอเป็นหนังสือแสดงเหตุผลในการ ขอตรวจสอบต่อคณะกรรมการและมีสมาชิกรับรองคำขอดังกล่าว จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ข้อ 15. สมาชิกมีหน้าที่

15.1 เคารพ และปฏิบัติตามข้อบังคับ และระเบียบของสมาคมเจ้าของเรือไทย

15.2 ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเจ้าของเรือไทย และที่ประชุมคณะกรรมการ

15.3 ชำระค่าบำรุง

15.4 ใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบในการรับรองผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมเจ้าของเรือไทย

15.5 สมาชิกผู้ใดมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือจำนวนตันกรอสส์ของเรือต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สมาคมเจ้าของเรือ ไทยทราบโดยเร็ว

15.6 ห้ามมิให้สมาชิกผู้ใดใช้ชื่อและสถานที่ของสมาคมเจ้าของเรือไทยเพื่อประโยชน์ใดๆ ทางการเมืองหรือเป็นประโยชน์ส่วนตัว

หมวด 6 การดำเนินงานของสมาคมเจ้าของเรือไทย

ข้อ 16. ต้องดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเจ้าของเรือไทย ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 10 คน โดยกรรมการสามัญ 9 คน อย่างน้อย 8 คน จะต้องมาจากสมาชิกสามัญประเภทหนึ่ง ส่วนกรรมการสมทบ 1 คน ให้เลือกตั้งจากสมาชิกสมทบ

ข้อ 17. การเลือกตั้งคณะกรรมการให้กระทำในที่ประชุมใหญ่ในปีที่ครบวาระการเลือกตั้งและดำเนินการดังนี้

17.1ให้ประธานที่ประชุมใหญ่แต่งตั้งผู้ดำเนินการเลือกตั้งและพยานในการนับคะแนนรวม 3 คน ซึ่งมิใช่ กรรมการที่เพิ่งครบวาระเพื่อดำเนินการเลือกตั้ง

17.2 การเลือกตั้งกรรมการสมทบให้กระทำโดยสมาชิกสมทบ 1 คน มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสมทบที่ตนเห็นสมควร และมีสมาชิกสมาคมอีกหนึ่งคนเป็นผู้รับรองและให้มีการเลือกตั้งด้วยการลงคะแนนลับโดยสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ สมาชิกสมทบที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดแต่ผู้เดียวเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ตัดสินโดยการจับสลากและให้กรรมการสมทบที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนน 1 เสียงแทนสมาชิกสมทบในการเลือกตั้งกรรมการสามัญ

17.3 การเลือกตั้งกรรมการสามัญให้กระทำโดยสมาชิกสามัญ 1 คน มีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกสามัญแต่ละประเภทที่ ตนเห็นสมควรและมีสมาชิกสามัญอีก 1 คนเป็นผู้รับรองแล้วให้มีการเลือกตั้งโดยสมาชิกสามัญและกรรมการสมทบด้วยการลงคะแนนลับในบัตรลงคะแนน ซึ่งบัตรแต่ละใบจะเลือกเกินจำนวนกรรมการสามัญมิได้และภายใต้ข้อบังคับข้อ 16 สมาชิกสามัญที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 9 ลำดับแรกเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มี คะแนนเสียงเท่ากันให้ตัดสินโดยการจับสลาก

17.4 ให้กรรมการสามัญและกรรมการสมทบที่ได้รับเลือกตั้งทำการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโดยการลง คะแนนลับ กรรมการสามัญผู้ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเพียงผู้เดียวเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งและเป็นประธานสมาคมเจ้าของเรือไทยโดยตำแหน่ง แล้วให้ประธานสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานคณะกรรมการอีก 2 คน เพื่อดำรงตำแหน่งรองประธานสมาคมคนที่ 1 และคนที่ 2 และแต่งตั้งเลขาธิการ เหรัญญิก ตำแหน่งละ 1 คน รวมทั้งตำแหน่งกรรมการอื่นด้วย

ข้อ 18. สมาชิกผู้ได้รับมอบอำนาจแทนที่มาร่วมประชุมเท่านั้น มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในที่ประชุม

ข้อ 19. กรรมการสามัญให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และเมื่อครบกำหนดแล้ว อาจรับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการใน คราวต่อไปได้อีก กรรมการสมทบให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี และเมื่อครบกำหนดแล้วอาจรับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกรรมการในคราวต่อไปได้อีก

ข้อ 20. ในการบริหารงานของสมาคมเจ้าของเรือไทย ถ้าตำแหน่งประธานสมาคมว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ให้รองประธานสมาคมคนที่ 1 หรือคนที่ 2 ตามลำดับดำรงตำแหน่งแทนเพียงคนเดียวจนครบวาระ

ข้อ 21. ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบแล้วแต่ กรณี ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลง

ข้อ 22. กรรมการผู้ใดที่มิได้เข้าร่วมประชุม และขาดการติดต่อกับสมาคมเจ้าของเรือไทยเกินกว่า 3 เดือนติดต่อกัน โดยไม่มี เหตุผลสมควรให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่งกรรมการและให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบแล้วแต่กรณีดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างลงนั้น

ข้อ 23. ให้กรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้ง ตามข้อ 21และ 22 อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดของผู้ซึ่งตนแทน

ข้อ 24. คณะกรรมการมีอำนาจ และหน้าที่ดังต่อไปนี้

24.1 ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และข้อบังคับของสมาคมเจ้าของเรือไทย ในการนี้ให้มีอำนาจแต่งตั้ง คณะกรรมการหรืออนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานเฉพาะอย่าง ตลอดจนแต่งตั้งที่ปรึกษา และว่าจ้าง แต่งตั้งหรือถอดถอนพนักงานและลูกจ้างของสมาคมเจ้าของเรือไทย

24.2 แจ้งให้สมาชิกทราบถึงผลงานที่สมาคมเจ้าของเรือไทยได้ปฏิบัติไปเป็นลายลักษณ์อักษร

24.3 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมเจ้าของเรือไทยตามข้อ 27 และการประชุมใหญ่วิสามัญตาม ข้อ 28

ข้อ 25. กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

25.1 ถึงคราวออกตามวาระ

25.2 ตาย

25.3 ลาออก

25.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ออก

25.5 พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อ 10

25.6 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้กระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้า หรือต้องโทษจำคุกตามกฎหมายอาญา

25.7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตาม มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พุทธศักราช 2509

หมวด 7 ที่ประชุมใหญ่ และการประชุมของคณะกรรมการ

ข้อ 26. เว้นแต่ข้อบังคับข้อใดจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การประชุมใหญ่ให้หมายความรวมถึงการประชุมใหญ่สามัญและ การประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 27. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมเจ้าของเรือไทย ภายในไม่เกินเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อให้ คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานในรอบปี เสนองบดุล ขออนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งเลือกตั้งกรรมการ (เฉพาะในปีที่ครบกำหนดวาระที่ต้องมีการเลือกตั้ง) โดยให้คณะกรรมการแจ้งวัน เวลาและสถานที่ ที่จะมีการประชุมรวมทั้งวาระการประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ข้อ 28. การประชุมใหญ่ครั้งอื่นในปีเดียวกันนอกเหนือจากการประชุมใหญ่ตามข้อ 27 ให้เรียกว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ ซึ่งอาจเรียกให้มีการประชุมได้ในกรณีดังต่อไปนี้

28.1 คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลสมควรหรือจำเป็นที่จะเรียกประชุม

28.2 เมื่อคณะกรรมการได้รับคำร้องขอเป็นหนังสือจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดให้ คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ28.3 การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญให้คณะกรรมการแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ที่จะมีการประชุมนั้น รวมทั้ง จุดประสงค์ของการประชุมดังกล่าวด้วยให้สมาชิกทราบเป็นหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ข้อ 29.ในการประชุมใหญ่ทุกคราว หากสมาชิกไม่ครบจำนวนสมาชิกทั้งหมดมาประชุม ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะครบเป็นองค์ประชุม โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม ในกรณีการเรียกประชุมตามข้อ 27 และข้อ 28.1และไม่ครบองค์ประชุมภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากถึงกำหนดเวลานัดประชุม ให้เลื่อนการประชุมออกไปและจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ครั้งใหม่ภายใน 14 วัน หลังจากวันประชุมครั้งแรกและการประชุมครั้งใหม่นี้ หากมีสมาชิกสามัญมาประชุมเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม แต่การเรียกประชุมตามข้อ 28.2 ไม่ว่าเป็นการเรียกประชุมครั้งใดก็ตาม หากไม่มีสมาชิกสามัญมาประชุมเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุมภายในหนึ่งชั่วโมงหลัง จากถึงกำหนดเวลานัดประชุม ให้ยกเลิกการประชุมโดยไม่ต้องเรียกประชุมใหม่

ข้อ 30. ให้ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมและจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง จึงจะครบเป็นองค์ประชุม

ข้อ 31. การประชุมใหญ่และ การประชุมคณะกรรมการ ให้ประธานสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานสมาคมปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งประธานสมาคมและรองประธานสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานเฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 32. การประชุมใหญ่และ การประชุมคณะกรรมการ ให้บันทึกการประชุมเป็นภาษาไทยไว้ทุกครั้ง และต้องเสนอเพื่อรับรองในที่ประชุมครั้งต่อไป

ข้อ 33. การใดที่ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติและไม่มีข้อบังคับใดกำหนดจำนวนคะแนนเสียงไว้เป็นการเฉพาะ การนั้นจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม จึงจะมีผลบังคับใช้ และในการลงมติทุกครั้งให้กรรมการสมทบเป็นผู้ออกเสียงแทนสมาชิกสมทบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งเสียง

หมวด 8 การเลิกสมาคม

ข้อ 34. การเลิกสมาคมเจ้าของเรือไทยต้องได้รับมติที่ประชุมใหญ่ โดยมีหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมให้สมาชิกทั้งหมดทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะเลิกสมาคมได้

ข้อ 35. เมื่อเลิกสมาคมเจ้าของเรือไทย และชำระบัญชีแล้ว ถ้ามีทรัพย์สินของสมาคมเหลืออยู่ ให้โอนไปให้แก่นิติบุคคลที่มี วัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะ ตามมติที่ประชุมใหญ่

หมวด 9 เบ็ดเตล็ด

ข้อ 36. หนังสือบอกกล่าวต่างๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนดให้ส่งแก่สมาชิก ถ้าได้ส่งไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่ อยู่ของสมาชิกตามที่ปรากฎในทะเบียนสมาชิกแล้ว ให้ถือว่าได้ส่งไปโดยถูกต้อง

ข้อ 37. การเงินของสมาคมเจ้าของเรือไทย ให้จัดการไปตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร เงินสดถ้ามี ให้นำไปฝากไว้กับธนาคารที่คณะกรรมการเห็นสมควร การสั่งจ่ายเงินของสมาคม ด้วยเช็คและตั๋วเงิน ต้องมีประธานสมาคมหรือผู้ที่สมาคมมอบหมายลงชื่อและประทับตราสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 38. ให้เหรัญญิกจัดให้มีบัญชีการเงินของสมาคมพร้อมด้วยใบสำคัญและหลักฐานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และให้ตรงต่อความเป็นจริงเสมอหลักฐานเกี่ยวกับการเงินตามวรรคหนึ่งให้อยู่ในความรับผิดชอบของประธานสมาคมกับเหรัญญิกร่วมกันรักษาไว้เพื่อการตรวจสอบบัญชี

ข้อ 39. ให้คณะกรรมการจัดการให้ทำงบดุลส่งให้สมาชิกทุกรอบปีบัญชีโดยผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี ซึ่งที่ประชุมใหญ่แต่งตั้ง และรายงานผลการดำเนินงานประจำปีไปยังสมาชิก ก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน

ข้อ 40. รอบปีการบัญชีของสมาคมเจ้าของเรือไทย ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมของปีเดียวกัน

ข้อ 41. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญเป็นผู้แต่งตั้งผู้สอบบัญชีและให้ผู้สอบบัญชีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี

ข้อ 42. กิจการอันต้องกระทำในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีดังนี้

42.1 รับรองรายงานการประชุม

42.2 คณะกรรมการรายงานผลการดำเนินงานประจำปี

42.3 พิจารณางบดุล

42.4 พิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าสอบบัญชี

42.5 พิจารณาข้อเสนอคณะกรรมการ (ถ้ามี)

42.6 พิจารณาญัตติของสมาชิก (ถ้ามี)

42.7 เลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อ 27 (เฉพาะในปีกำหนดให้มีการเลือกตั้ง)

42.8 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

หมวด 10 การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ 43. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฉบับนี้ จะทำได้ก็แต่โดยคณะกรรมการเป็นผู้เสนอหรือสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องเป็นสมาชิกสามัญได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมและได้มีการพิจารณาร่วมกันแล้วกับคณะกรรมการ แล้วให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติตามหมวด 7 จึงจะมีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือพร้อมสำเนาข้อบังคับส่วนที่มีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน

หมวด 11 บทเฉพาะกาล

ข้อ 44. สำหรับสมาชิกที่เป็นสมาชิกสมทบของสมาคมเจ้าของเรือไทยอยู่แล้ว สามารถดำรงสถานะภาพสมาชิกสมทบอยู่ต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะภาพเป็นสมาชิกสามัญประเภทสอง

ข้อ 45. ในกรณีที่ข้อบังคับของสมาคมเจ้าของเรือไทยมีการแก้ไข หรือเพิ่มเติม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ก็ให้กรรมการดำเนินการเพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามการแก้ไข หรือเพิ่มเติมนั้น ภายในเวลาที่คณะกรรมการเห็นสมควร

*******************************************

สมาคมเจ้าของเรือไทย "THAI SHIPOWNERS' ASSOCIATION"

ข้อบังคับของสมาคมเจ้าของเรือไทย

2 มิถุนายน 2548